top of page
  • Thiti Kunajipimol

Digital Transformation ฉบับธุรกิจครอบครัว x เพจ "ทำที่บ้าน"

ภารกิจที่เหนื่อยพอๆกับการเดินมาราธอนขึ้นภูเขา


หลายท่านอาจจะคุ้นเคยดีกับคำว่า Digital Transformation ที่ถูกใช้กันมากมายในยุคปัจจุบัน มันเป็นเรื่องที่ดูไม่ยากเลยเมื่อเราเห็นกรณีศึกษาตามสื่อต่างๆ แต่มันกลับไม่ง่ายเลยเช่นกันเมื่อเราต้องการจะเริ่มลงมือกับธุรกิจของตัวเอง


ในบทความนี้เราจะมาชวนทุกท่านคุยถึงเรื่องการเริ่มทำ Digital Transformation ฉบับธุรกิจครอบครัว โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบเข้าใจง่ายกันใน 8 Steps ครับ



Step 1 หายอดเขาของคุณ


ผมจะเล่าให้ลูกค้าทุกท่านฟังเสมอว่าการทำ Digital Transformation นั้นเหมือนกับการเดินทางขึ้นภูเขา และในการจะวางแผนขึ้นเขาได้นั้น ก็ต้องเห็นยอดเขาเสียก่อน เพราะการปีนเขาครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวคุณคนเดียว แต่ยังมีผู้ร่วมทางที่เป็น พนักงาน เพื่อนร่วมงาน คณะผู้บริหาร และแน่นอน “ผู้นำทีมพิชิตภูเขาลูกก่อนๆ” อย่างท่านผู้บริหารรุ่น 1 ของเรา เราต้องใช้ยอดเขาเป็นเป้าหมายที่ทุกคนในองค์กรมองเห็นร่วมกัน สื่อสารกันให้ชัดเจน และสม่ำเสมอ ไม่อย่างนั้นคณะเดินทางของเรา อาจจะกระจัดกระจายกันไปในระหว่างทางก็ได้ครับ


Step 2 สร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนร่วมทาง


แน่นอนว่าการทำ Digital Transformation นั้นเหมือนกับการการขึ้นเขาแบบมาราธอน ดังนั้น นอกจากแรงกายแล้ว แรงใจก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ


คุณต้องทำหน้าที่สร้างแรงบัลดาลใจให้กับทุกคนในทีมไม่ว่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องลงมือเปลี่ยนแปลงระบบงานในครั้งนี้ ถ้าเราทำจะเกิด Impact อะไร? แล้วถ้าเราไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น? เช่น “บริษัทของเราจะมาสร้างยอดขายจากช่องทางใหม่ๆ ให้มากขึ้น และนับเป็น 50% ของรายได้รวมทั้งหมด เพื่อลดความเสียงกับสถานการที่ไม่คาดคิดในอนาคต” หรือ “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยลดระยะเวลาการขาย (Sales Cycle) ให้สั้นลงได้ถึง 40% ซึ่งนั่นหมายความว่าเราจะรับรู้รายได้เร็วขึ้นและทีมขายของเราก็จะสามารถ ใช้เวลาไปกับการหาลูกค้ารายใหม่ๆเพื่อเพิ่มยอดขายได้อีกด้วย”


และสุดท้ายเมื่อคุณสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานได้แล้ว คุณก็ยังคงต้อง สื่อสาร สื่อสาร และ สื่อสาร ต่อไปอย่างสม่ำเสมอนะครับ


Step 3 แบ่งหน้าที่ และมองให้ออกว่าใครได้ใครเสีย


นี่เป็นเรื่องที่สำคัญแทบจะที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้งย่อมมีคนได้ประโยชน์ และ เสียประโยชน์อยู่เสมอ ซึ่งการเสียประโยชน์ในที่นี้อาจหมายถึง ต้องมีภาระงานที่มากขึ้น รู้สึกถูกลดความสำคัญในขั้นตอนการทำงานลงไป


ยิ่งคุณเห็นผู้เสียประโยชน์มากขึ้นเท่าใด คุณยิ่งต้องดึงเขาเข้ามาให้ใกล้กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้นเท่านั้น พร้อมทั้งชี้ให้เขาเห็น “ภาพที่ใหญ่ขึ้น” เช่น “การที่คุณพี่อาจจะต้องเตรียมข้อมูลเยอะๆในช่วงนี้จะทำให้คุณพี่เอง มีฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งมากๆในอนาคต และ เพื่อนๆร่วมงานของเราก็จะทำงานง่ายขึ้นอีกมาก ทุกๆ คนรวมถึงทีมผู้บริหารเองต้องขอบคุณคุณพี่มากๆแน่นอนครับ”


หากเราละเลยหรือมองไม่ออกและปล่อยให้พวกเขาเผชิญชะตากรรมและความรู้สึกแบบนั้นอย่างโดดเดียวล่ะก็ วันหนึ่งเพื่อนร่วมทางของเราบางคนอาจจะโบกมือลาเราไประหว่างทางก็เป็นได้


Step 4 พักชมวิวบ้าง


แน่นอนว่าการเดินทางไกลต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างมหาศาล ดังนั้นการหาจุดชมวิวสวยๆเพื่อพักผ่อนและชื่นชมกันและกันบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม


ใช่แล้วครับ ผมหมายถึงการ "Celebrate Small Wins" นี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยทำให้ทีมของเรามีแรงฮึดสู้กับการทำ Digital Transformation ในขั้นต่อๆไป การชื่นชม (Admiring) ความคืบหน้าในการทำงานของแต่ละทีมเมื่อบรรลุ Milestone ต่างๆ หรือการให้ของขวัญตอบแทน เป็นโบนัสเล็กๆน้อยๆ หรือแม้กระทั่งการพาทีมไปเลี้ยงฉลองตามโอกาสต่างๆ เป็นเครื่องมือที่หลายๆคนอาจจะมองข้ามไปในการทำ Transformation Project แต่ว่านี่แหละ คือสิ่งที่จะช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้า และพร้อมจะลุยต่อ และยังทำให้เขาเชื่อใจในผู้นำทาง มากขึ้นอีกด้วยครับ


Step 5 ทำความเข้าใจว่าภูเขาลูกเดิม กับ ภูเขาลูกใหม่ นั้นแตกต่างกัน


หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอนครับ ว่าระหว่างการเดินทาง คุณจะได้ยินเสียงซุบซิบ มาจากผู้ร่วมทางหลายๆคน ที่อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสิ่งต่างๆของการเดินทางครั้งใหม่นี้ กับการเดินทางครั้งก่อน และอย่างยิ่งเสียงที่ดังที่สุดที่จะมาจาก “ผู้นำทางคนเก่า”


คุณต้องสร้างความเข้าใจกับคณะเดินทางว่าการปีนภูเขาลูกเดิม กับ ภูเขาลูกใหม่ นั้นมีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ความสามารถของคู่แข่งที่สูงขั้น และพฤติกรรมผู้บริโภค ถ้าเรายังไม่รีบปรับตัวเราก็เป็นแค่ธุรกิจที่รอวันเฉา


Step 6 ทำแผนที่ก่อนออกเดินทาง


หากการออกเดินทางต้องใช้แผนที่ การทำ Digital Transformation ที่ดีก็ต้องมีแผนงานเช่นกัน

แผนงานจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คุณแก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจร่วมในองค์กรได้อย่างดี ซึ่งแผนงานของคุณควรจะประกอบไปด้วย

  1. จุดประสงค์หลัก โดยเฉพาจุดประสงค์ทางธุรกิจ และ จุดประสงค์ทางกลยุทธ์ (Strategic Objective, Business Objective) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเดินทางของทีมคุณ เช่นปีนี้ คุณต้องการจะเพิ่ม Customer Engagement หรือ Diversify Revenue Channel ให้หลากหลาย

  2. วิธีการ การที่คุณจะบรรลุจุดประสงค์ของคุณได้นั้น อาจสำเร็จได้จากหลายวิธีการด้วยกัน ซึ่งคุณสามารถลองวางแผน แล้วเลือกวิธีการที่เหมาะที่สุดกับช่วงเวลานั้นๆ

  3. Start Point การออกเดินทางตามแผนที่โดยเริ่มต้นผิดไปจากจุดออกตัว น่าจะทำให้คุณหลงทางเอาได้ง่ายๆ ดังนั้นการพิจารณาให้ดีถึงศักยภาพ ทรัพยากร ความพร้อม ให้ดีก่อนเริ่มลุยนั้น จะช่วยให้เราสามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น

  4. Milestone หรือ เป้าหมายย่อย ที่จะช่วยให้คุณสามารถวัดผลได้ว่า คุณกำลังมาถูกทางหรือเปล่า เพราะทุกอย่างในแผนงานคือสมมุติฐาน หากวิธีการที่คุณเลือกไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังเอาไว้ หรือไม่เป็นไปตามแผน ก็อาจถึงเวลาที่จะต้องพิจารณาเปลี่ยนวิธีการดูเช่นกัน (แต่อย่าพึ่งเปลี่ยนจุดประสงค์ไปนะครับ)

  5. แกนเวลา เพราะการจะไปถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้นั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในวันเดียว

คุณควรจะวางแผนให้ชัดเจนว่าทีมงานต้องทำอะไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา และแต่ละภารกิจระหว่างทางควรจะใช้เวลากับมันไปเท่าไหร่ ซึ่งแกนเวลานี้เองจะเป็นตัวชี้ให้ทีมงานของเราเห็นจังหวะจะโคนในการทำ Digital Transformation ร่วมกัน ใครมีบทบาทต้องก้าวขึ้นมานำในช่วงไหน ใครผ่อนลงช่วงไหน


ผมเชื่อว่า หากคุณสามารถร่างแผนงานที่ประกอบไปด้วยรายละเอียดทั้ง 5 ข้อนี้ และบอกได้ชัดเจนว่า เราจะต้องทำอะไร เพื่อให้ได้อะไรกลับมา แผนงานของคุณก็น่าจะเหมือนแผนที่ ที่ช่วยให้คณะเดินทางของคุณไปถึงจุดหมายได้อย่างสำเร็จ (และหลงทางน้อยที่สุดเช่นกัน) และนี่จะเป็นอาวุธที่คุณจะใช้ในการโน้มน้าว “ผู้นำทางคนเก่า” ได้อย่างดีที่สุดด้วย


Step 7 เลือก Tools ให้เหมือนเลือกพาหนะ


เพราะทุกจุดหมายปลายทางอาจจะไม่สามารถไปถึงได้ด้วยรถสปอร์ตหรูโหลดเตี้ยเสมอไป การพิจารณาเลือก Tools หรือ Software เพื่อทำ Digital Transformation นั้น ก็เป็นเรื่องที่คุณควรให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะจุดประสงค์ วิธีการ และ ความพร้อมของแต่ละองค์กรก็แตกต่างกัน


Software ที่ดีที่สุด หรือแพงที่สุด ก็ไม่ได้แปลว่าจะเหมาะสำหรับการทำ Digital Transformation ในทุกเคส ดังนั้นคุณจึงควรจะเลือก Software ที่ช่วยแก้ปัญหาของคุณได้ ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม และอย่าลืมพิจารณาให้และยืดหยุ่นมากพอสำหรับการออกเดินทางครั้งใหม่ในอนาคตด้วยนะครับ


Step 8 ถึงคิวของคุณแล้ว


เอาล่ะครับ สิ่งสุดท้ายที่คุณต้องพิจารณาคือ การเลือกเวลาที่เหมาะสมในการออกเดินทางก้าวแรก คุณจะรอให้คู่แข่งออกตัวนำไปก่อนแล้วเราค่อยเดินตาม หรือ คุณจะเลือกเดินทางเป็นคนแรก ตั้งแต่วันนี้ ในระหว่างที่คู่แข่งพักผ่อนอยู่ ก็อยู่ที่คุณแล้วล่ะครับ


ข้อคิดส่งท้ายที่อยากฝากไว้ให้ทายาททุกท่าน


การทำ Digital Transformation นั้นไม่ใช่การพยายามเอาชนะวัฒนธรรมเก่าๆ ด้วยเทคโนโลยีนะครับ แต่เป็นการชวนพวกเขาเหล่านั้นออกเดินทางไปด้วยกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อชมทัศนียภาพใหม่ๆ บนยอดเขาที่สูงกว่าเดิม แล้วคุณจะประหลาดใจที่ประสบการ์ของคณะเดินทางรุ่นเก๋าทั้งหลาย จะช่วยให้ธุรกิจของคุณในโลก Digital มีความพร้อมเหนือคู่แข่งครับ


bottom of page